|
หมวดหมู่ > ระบบเสียง PA > เครื่องเสียง PA >
เสียงไฮเอนด์ จำเป็นต่อระบบเสียงสาธารณะไหม
วันที่ : 26/01/2016
เสียงไฮเอนด์ จำเป็นต่อระบบเสียงสาธารณะไหม โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ บางคนคิดว่า ระบบเสียงสาธารณะ (PA) ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันอะไร เอาแค่มีเสียงก็พอ ไม่มีใครมานั่งฟังจับผิดกันหรอก ไม่ต้องระดับหูทอง หรือ audiophile อะไร ใครจะมาใส่ใจ ส่วนมหญ่ก็แค่ฟังประเดี๋ยวประด๋าวไม่กี่นาที ไม่ได้มานั่งฟังกันอย่างเอาเป็นเอาตายอย่างฟังเพลงที่บ้าน ถ้าเป็นงานคอนเสิร์ตก็ขอแค่ดัง, มันส์ เหมือนกับในโรงหนังก็แบบนั้น ในห้องอาหาร คลับ บาร์ ก็ขอแค่เสียงดังฟังชัด นักร้องสวย, หล่อ, เต้นเก่ง ก็พอแล้ว ระบบเสียง PA จึงขอแค่ ดัง, ชัด, ทน, ถูก... แค่นั้นพอ เสียงไฮเอนด์ เป็นอย่างไร เรื่องของเสียงไฮเอนด์ มีพื้นฐานกำเนิดจากนักฟังเครื่องเสียงบ้านที่มีฐานะ พวกเขาพยายามทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าการเสาะแสวงหา วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องเสียง ที่จะสามารถจำลอง “ความรู้สึก” ได้ใกล้เคียงกับการไปฟังการแสดงสดที่สุด การแสดงที่เป็นอะคูสติกส์ คือ ไม่ใช้หรือใช้น้อยที่สุด ซึ่งระบบขยายเสียง ไม่ใช้เลยยิ่งดี อาจยอมบ้างกับเสียงร้อง แต่เครื่องดนตรีต้องไม่ใช้การขยายเสียงด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ในทัศนะของการฟังเสียงไฮเอนด์ ต้องประกอบด้วยหรือต้องสามารถถ่ายทอดคุณสมบัติเหล่านี้คือ 1. สุ้มเสียงที่มี ความถี่ครบ ไม่ตกหล่น ไม่ขาด ไม่เกิน บางความถี่ตามทฤษฎีอาจระบุไว้ในตำราว่า หูมนุษย์ไม่ได้ยิน เช่น เสียงความถี่สูงมากๆ เกิน 20kHz หรือต่ำมากๆ ต่ำกว่า 20Hz แต่ในความเป็นจริง แม้หูไม่ได้ยิน ก็ไม่ได้หมายความว่า ร่างกายส่วนอื่นๆ เรารับรู้ไม่ได้ ไม่ว่า การสั่นสะท้าน บรรยากาศ ลมหายใจของตัวโน้ต หรือ อนูมวลอากาศรอบตัวโน้ต ความถี่เสียงครบก็จริง แต่ส่วนผสมของแต่ละโน้ต แต่ละเสียงต้องถูกต้องด้วย เพื่อถ่ายทอด เสียงร้องหรือพูด ที่แตกต่างกันของนักร้องแต่ละคน เสียงโหยหวนลากยาวแหลมผอม ที่แตกต่างกันของเสียงจากไวโอลิน กับ เชลโล เสียงเคาะกังวานเข้มหนักที่แตกต่างกันของเสียงจากเปียโนอัพไรท์ (ตู้สั้น) กับเปียโนแกรนด์ (ตู้ยาวลึก) ของกีตาร์โปร่ง กับ กีตาร์ไฟฟ้า ของนักร้องอ้วน กับ นักร้องผอม ของระนาดเอกกับระนาดทุ้ม กลองบรองโก กับกลองชุด ฉาบกับฉิ่ง ฯลฯ แม้แต่เครื่องดนตรีอย่างเดียวกัน แต่ต่างยี่ห้อ ต่างระดับชั้น ก็ต้องแสดงความแตกต่างกันของความน่าฟังได้ กลองชุดราคาหกแสนเหนือกว่ากลองชุดราคาสามหมื่นบาทอย่างไร เสียงนักร้องมืออาชีพกับนักร้องสมัครเล่น การร้อง, เล่น ที่จมดิ่งกับอารมณ์ กับการร้อง, เล่น ที่สักแต่เล่นไปอย่างนั้น หรือร้องแก้บน 2. รูปลักษณ์, ขนาด (scale), ทรวดทรง, ตำแหน่ง, ความนิ่งของนักร้อง, นักดนตรี (ดนตรี) ต่างๆ ในวง ต้องไม่เล็กผอมเกินไป หรืออ้วน, บวม ฉุ หรือขยายมโหฬารเกินจริง ต้องรับรู้ได้อย่างแม่นยำ มั่นคงตลอดเวลา (ไม่ใช่ผลุบโผล่) รู้ขอบเขตของวง ความสูงต่ำ ความตื้นลึก ระยะของแต่ละชิ้นดนตรี, นักร้อง 3. รายละเอียดทุกเม็ด แม้ค่อยสุด กระทั่งเสียงกระซิบเบาๆ ปลายหางเสียง เสียงริมฝีปาก เสียงทอดถอนใจ เสียงลมหายใจตามไรฟัน เสียงห่อปากกระดกลิ้น เสียงลงท้อง เสียงหายใจ เสียงนิ้วกด, กรีด, ตบ, ดีด, ตี, เกา เครื่องดนตรีทั้งหลาย เสียงผิวกระทบจากการตี, ตบ, เคาะ, เขย่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ช่วยแต่งเติมอารมณ์ให้ชวนคล้อยตาม เป็นวิญญาณของเพลง 4. การสวิงเสียงจากค่อยสุดไปดังสุดเป็นช่วงกว้าง ไม่มีการอั้น, ตื้อ ทั้งจากแต่ละเครื่องดนตรี (โน้ต) และขณะโหมทั้งวง เสียงร้องที่สงบถึงตะเบ็งกันแบบสุดคอหอย 5. แต่ละเสียงจากจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน ต้องคงเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้ ทั้งสุ้มเสียงและการสวิงเสียง หรือแม้แต่ ความกังวานของเสียงแต่ละคน ไม่ให้เกิดการผสมปนเปมั่วไปหมด หรือลากจูงกันไปในแนวร่วมอันหนึ่งทุกเสียงต้องยังเป็นพระเอกได้และมีความแปลกแยกที่คงอยู่ แม้จะต้องดำเนินอยู่ในกรอบแห่งเพลงเดียวกัน 6. เสียงทั้งหมดต้องสะอาดหมดจด ไร้อาการสากเสี้ยน บาดหู ทิ่มหู กระด้าง จัดจ้าน หยาบ บทที่จะต้องแผด, จ้า ตามเนื้อเพลงก็ต้องแผด จ้า ที่ไม่ระคายหู 7. ต้องมีความกังวาน ฉ่ำพลิ้ว ไม่แห้ง ต้องเปิดโล่ง โปร่งทะลุ ไม่ขุ่นทึบ ต้องรับรู้ได้ถึง “บรรยากาศ” ถ้าคุณนำคุณสมบัติทั้ง 7 ข้อนี้ ไปบอกเล่ากับนักออกแบบ, ติดตั้ง ระบบเสียง PA พวกเขาจะมองคุณด้วยสายตาแปลกๆ ถ้าไม่ขำคุณ ก็คงสมเพชคุณ พาลคิดไปว่า เป็นเรื่องเพ้อเจ้อ เพ้อฝัน ของพวกหูหาเรื่อง มันไม่มีความจำเป็นเลยในวงการ PA ไม่มีใครมาสนใจ หรือเงี่ยหูฟังกันขนาดนั้นหรอก สิ่งแวดล้อม สถานการณ์ เหตุการณ์ มันไม่ได้เอื้ออำนวยให้มีเวลา มีสมาธิ มานั่งจับผิดกันจนาดนั้น พวกเขาคิดแต่ว่า “เสียงของ PA ต้องชัด, ไร้เสียงกวน, กระจายทั่วถึง, ทุกคนได้ยิน, ไม่เพี้ยน, ไม่เกะกะ, ไม่รกสายตา, ไม่ไปแย่งหรือกีดขวาง หรือน่าเกลียดต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวมัน, เอาใจเจ้าของงาน” ซึ่งคิดอย่างนี้ ก็ถูกเหมือนกันกับเงื่อนไขที่ขีดเส้นใต้ไว้ หรือทำตัวดำไว้ แต่ในส่วนข้ออื่นๆ มันเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งไม่มีสอนในตำรา หรือวงการ PA ใดๆ ในโลก นั่นคือ เรื่องของ ไซโคอะคูสติกส์ (Psychoacoustics) ซึ่งบอกจิตสัมผัสของมนุษย์ต่อเสียงที่ไม่มีทิเตอร์ไหนในโลกแสดงได้ Psychoacoustics เพราะมนุษย์เรามีตัวรับฟังหลักคือ หู “2 ข้าง” ผนวกกับ “ความจดจำ” การรู้จักจินตนาการและสมาธิ ก่อให้เกิดการรับรู้ ที่ยากหรืออธิบายไม่ได้ด้วยเครื่องมือวัดใดๆ ความสมจริงเป็นตัวตน เป็นธรรมชาติของเสียง (ข้อ 1-7 ครบ) ช่วยให้การฟังแยกแยะได้ดีขึ้นมาก แม้จะอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่หนวกหู ช่วยให้การติดตั้ง PA ไม่ต้องใช้จุดกระจายเสียงมากๆ (ลำโพงมากๆ) (กรณีส่งเสียงตามสาย) ไม่ต้องเปิดดังลั่นสนั่นโลกจนคับห้อง ก้องไปหมด หรือจนหนวกหู แขกเหรื่ออื่นๆ หรือต้องใช้ระบบลำโพ ใหญ่ๆ มโหฬาร หรือกำลังขยายเป็นพันๆ วัตต์ ทำให้ลดต้นทุนของการติดตั้ง PA ลดจำนวนภาระในการขนส่ง (งานคอนเสิร์ต) ลด, บรรเทาปัญหาการรบกวนชาวบ้าน หรือต้องทำสถานที่ป้องกันเสียงรั่วอย่างดี (จากโรงหนัง, เธค, คลับ, บาร์) เมื่อระบบ PA สามารถลดจำนวนของอุปกรณ์, สิ่งก่อสร้าง, หรือโครงสร้างสถานที่ลงได้มาก ก็สามารถนำงบมาเป็นค่าสายดีๆ, ค่าอุปกรณ์ดีๆ ได้ นอกจากนั้น จะพบว่า การ set up หรือจูนเสียงก็ง่ายขึ้นมาก และค่อนข้างใช้ได้กับแทบทุกสถานการณ์ ไม่ต้องจูนใหม่ไล่ตามแต่ละสถานการณ์เหมือนจับปูใส่กระด้งอยู่ตลอดเวลา เมื่อสุ้มเสียงออกมา “น่าฟัง, ฟังเพลิน, ได้อารมณ์” ไปหมด ก็ย่อมดึงดูดลูกค้า และลดปัญหาต่างๆ ลงได้มหาศาล เพิ่มพูนรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการและเพิ่มประสิทธิภาพของการกระจายเสียง ลดความผิดพลาด ความไม่เข้าใจ ช่วยให้นักร้อง, นักดนตรี สามารถถ่ายทอดหรือนำเสนอ ฝีมือ, คุณภาพของพวกเขาออกมาได้ ทุกหยาดหยด ยิ่งส่งเสริมชื่อเสียงของพวกเขายิ่งๆ ขึ้นไป พวกเขามีความสุข สนุก วางใจกับระบบเสียงที่ไม่ปิดกั้น หรือถึงขนาดบั่นทอนความสามารถของพวกเขา ผู้ฟัง, ผู้ไปใช้บริการ ก็ย่อมพึงพอใจกับการบริการ และคุ้มค่่ากับเงินที่พวกเขาเสียไป (ใครอยากไปเที่ยวคาราโอเกะ ที่ฟังเสียงตัวเองร้องแล้วอยากร้องไห้) (ใครอยากไปดูหนังในโรงที่เสียงอุบาทว์หู สู้ชุดโฮมเธียเตอร์ที่บ้านก็ไม่ได้) (ใครอยากไปดูการแสดงดนตรีแบบมีระดับ แต่เสียงสู้ฟังจาก CD ที่บ้านไม่ได้) (คนดีๆ มีใครอยากไปดูงานคอนเสิร์ตที่มีแต่เสียงตูมตาม เจี๊ยวจ๊าว หนวกหู ฟังไม่ค่อยได้ศัพท์) ระบบเสียงที่ดี เป็นจุดขายที่สำคัญอย่างมากของสถานเริงรมย์ ซึ่งมักมองข้ามอย่างน่าเสียดาย กลับไปเน้นจุดอื่นๆ ที่ไม่ยั่งยืน เช่น ความหรูหรา แสงสี ซึ่งสร้างความตื่นตาแค่ชั่วครู่ชั่วยาม นานไปก็เบื่อ แต่เสียงมีความเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง จึงไม่มีความน่าเบื่อใดๆ ปัญหาของการติดตั้งระบบเสียง PA ให้ได้เสียงไฮเอนด์ 1. อุปกรณ์เครื่องเสียงในวงการ PA มักเน้นความคล่องตัว, ยืดหยุ่น, ทนต่อการใช้งาน โดยแทบไม่สนใจที่จะทำเสียงให้ได้ระดีบไฮเอนด์เลย 2. ขาดแคลนบุคลากรที่เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องของไฮเอนด์ การเลือกอุปกรณ์การติดตั้ง การจูน การฟัง ซึ่งต้องพิถีพิถันอย่างยิ่งยวด และต้องฟังเก่งมากและรู้จริง มีประสบการณ์สูงจากไฮเอนด์บ้านมาก่อน 3. ข้อจำกัดในการติดตั้ง โดยเฉพาะการติดตั้งลำโพง ที่จะให้ได้ยินเสียงแบบไฮเอนด์ มักต้องติดแบบลอยตัว ไม่ใช่ฝั่งฝา หรือเพดาน ต้องห่างมุมห้อง, เพดาน, ฝาห้องให้มากที่สุด คงต้องปรึกษาร่วมกันกับทีมตกแต่ง หรือก่อสร้างอย่างมาก 4. ลำบากที่จะโน้มน้าว อธิบายให้เจ้าของงานเข้าใจ จนกว่าจะมีตัวอย่างที่เจ้าของงานเข้าใจและยอมคล้อยตาม จนได้ระบบเสียง PA ระดับไฮเอนด์ที่คู่แข่งทางธุรกิจมาฟังแล้วช็อกจนลุกลามไปทั้งวงการ PA, งานบันเทิง จะนำเครื่องเสียงไฮเอนด์มาใช้กับวงการ PA ได้ไหม เนื่องจากจุดมุ่งหมายในการใช้งานต่างกัน เครื่องเสียงไฮเอนด์เน้นการฟังอย่างละเมียด ประณีต ซึ่งก็คงไม่ตูมตาม ไม่อัดกันหนักๆ ประเภทมิดเกจ์อย่างเครื่องเสียง PA อย่างพวกคาราโอเกะ (ตอนลูกค้าเมา มึนได้ที่ หูอื้อแล้ว), พวกคอนเสิร์ต (ดังสุด, มันส์สุด), มหึมาเกินจริง (โรงภาพยนตร์) หรือใช้กับเครื่องดนตรี (สวิง, หวดกันเต็มที่) อีกทั้งเครื่องเสียง PA เน้นความทนทาน เรียกว่า ดีที่สุด ต้องพังไม่เป็น (the show must go on!) และการเชื่อมต่อที่ลากสายได้ยาวๆ (เช่นใช้ระบบ input/output แบบบาลานซ์) การที่ต้องทนทาน ทำให้ต้องจำกัดช่วงความถี่ตอบสนอง เอาเท่าท่ีจำเป็น เช่น แค่ 50Hz - 20kHz (ขณะที่เครื่องไฮเอนด์ 0.5Hz หรือ 10Hz - 70kHz (กรณีเพาเวอร์แอมป์)) ต้องใส่วงจรป้องกันเต็มที่ทั้งความร้อน, การช็อต, การสวิงสัญญาณเข้า-ออกเกิน, คลื่นวน (oscillation) วงจรคอยจำกัดการสวิง (compressor หรือ limiter), ใส่พัดลมความเร็วสูง ถ้าเป็นลำโพงก็ใส่กระเปาะหลอดไฟฟ้องกันเป็นตับ, รีเลย์ ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนบั่นทอนคุณภาพเสียง และมิติเสียงให้เละเทะได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขนาดที่เรียกว่า วงการไฮเอนด์รับไม่ได้เลย แน่นอนว่าเครื่องเสียงไฮเอนด์แทบไม่พึ่งพาสิ่งเหล่านี้ จึงนำมาใช้กับ PA ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ทางออกที่พอเป็นไปได้ คือ 1. กรณี PA ส่งเสียงทางสาย (ระบบเสียงสาธารณะ) พยายามใช้แหล่งรายการที่มีคุณภาพดีที่สุด เช่น ไมโครโฟน, สายไมค์, มิกเซอร์, ลำโพงแบบลอยตัวหนีฝา, ฝ้าเพดาน 2. ใช้การดัดแปลง, แก้ไข ภายในตัวเครื่อง, และภายในตู้ลำโพง ให้ได้เสียงที่ถูกต้องที่สุด ดีที่สุด อย่างนักดัดแปลงไฮเอนด์ทำกัน (ตรงนี้จะช่วยได้เยอะมาก มีสิทธิ์ดีขึ้นเกิน 100 เปอร์เซ็นต์) 3. ผู้ผลิตเครื่องเสียง PA ต้องหันมาให้ความสำคัญในคุณภาพเสียง, มิติ ไม่ใช่แข่งกันลดราคา, ลดต้นทุนลูกเดียว ซึ่งระยะยาวอยู่ไม่ได้ 4. ข้อนี้สำคัญที่สุด ต้องเดินระบบ, ติดตั้ง, จูนเสียงอย่างไฮเอนด์ ไม่ใช่เอาช่างไฟมาเดิน หรือพวกไม่มีประสบการณ์ไฮเอนด์มาติดตั้ง สรุป บทความนี้ได้นำเสนอมุมมองที่ต่างออกไปจาก “ความเชื่อ” เดิมๆ ที่ฝังหัวกันมาในแวดวงระบบเสียง PA ผมไม่คาดหวังว่ามันจะรุนแรงพอที่จะพลิกฟ้าพลิกวงการได้ แต่ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ บางทีผู้ที่อยู่ในแวดวงบันเทิง, สถานเริงรมย์ฐ สวนสาธารณะ ก็ควรหันมาปรับปรุงระบบเสียงของตนให้น่าสนใจเหนือคู่แข่งบ้าง ไม่มากก็น้อย อาจไม่ได้เต็มร้อยของความเป็นไฮเอนด์ แต่ก็น่าจะดีกว่า ยั่งยืนกว่า ปรับปรุงในด้านอื่นที่ไม่ยั่งยืน เชื่อเถิดครับ แทนที่จะทุ่มเงินจ้างนักร้องวัยรุ่นสมัยใหม่ที่เอาแต่ “ท่องเพลง บ่นเพลง” หาความคลาสสิคอะไรไม่ได้เลย เก่งแต่ตะโกนปาวๆ เต้นเป็นกิ้งกือ หรือเปรตขอส่วนบุญที่ดูให้ตายก็ไม่เห็นเป็นศิลปะที่ลึกซึ้งตรงไหน เอาค่าจ้างไร้สาระนี้มาปรับปรุงเครื่องเสียงเป็นไฮเอนด์ เผลอๆ เปิดจากเผ่นยังน่าฟังกว่าตัวจริงเสียอีก แล้วจะจ้างพวกนี้ไปทำไม www.maitreeav.com |